1 ปี อิแทวอน กับมาตรการรับมือภัยฉุกเฉิน

อิแทวอน

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่าการรวมตัวของฝูงชนจำนวนมาก เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีน จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ไปได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ขณะนั้น ยังมีผู้คนไม่น้อยที่มองข้ามมาตรการด้านความปลอดภัยสาธารณะ กระทั่งเกิดเหตุขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือ โศกนาฎกรรม ‘อิแทวอน’ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 160 ราย อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทั่วโลกหันกลับมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยสาธารณะ และจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการที่ครอบคลุม

นับจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ปีนี้ (ปี 2566) ถือเป็นปีแรกที่กลับมาจัดเทศกาลรื่นเริงกันอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เทศกาลสงกรานด์เรื่อยมา และอีกไม่กี่เดือนที่จะนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้คนจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลอง และแน่นอนว่าเมื่อมีการรวมตัวผู้คนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การจัดการด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการก่อกวนจากผู้ไม่หวังดี การสร้างสถานการณ์ หรือแม้แต่อุบัติเหตุจากปัญหาฝูงชนที่เบียดอัดจนเกิดเหตุฝูงชนถล่ม (Crowd Crush / Crowd Surge) 

กระทั่งหลายประเทศได้มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือน พร้อมออกมาตรการรักษาความปลอดภัยขึ้น โดยเมื่อมีเหตุฝูงชนแออัดในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เช่นในประเทศเกาหลีใต้ที่มีระบบแจ้งเตือน ซึ่งล่าสุด สำนักงานตำรวจนครบาลแห่งกรุงโซล (SMPA) ยังได้วางมาตรการด้านความปลอดภัยที่รัดกุมมากขึ้น โดยเว็บไซต์ Korea Time เปิดเผยว่า SMPA จะมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 1,260 คน ในบริเวณรอบบริเวณเมือง และจะมีหน่วยตำรวจปฏิบัติการพิเศษลาดตระเวนบริเวณโดยรอบ 3 สถานีรถไฟใต้ดินหลักที่ใกล้พื้นที่จัดงานอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังประกาศให้พื้นที่บริเวณกลางใจเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัยสูงสุด 

นอกจากนี้หน่วยงานตำรวจของกรุงโซลยังได้การวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารฉุกเฉินให้สามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญคือมีการนำเอาระบบ AI มาช่วยตรวจสอบ และวิเคราะห์ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฝูงชน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก

ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ได้นำเอาบทเรียนจาก ‘อิแทวอน’ และเหตุการณ์ฝูงชนถล่มในคอนเสิร์ต Travis Scott เมื่อปี 2021 มาใช้เป็นกรณีศึกษาในป้องกันเหตุการณ์ฝูงชนถล่ม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ได้เปิดเผยในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า หน่วยงานตำรวจของสิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อวางมาตรการที่รัดกุม และสอดคล้องกับกฎหมายในพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยที่บัญญัติ ในปี 2009 อาทิ การกำหนดให้ผู้จัดงานต้องแจ้งกับทางหน่วยงานตำรวจ ในกรณีที่มีกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่อาจมีผู้เข้าร่วมงาน 5,000 คนขึ้นไป หรือมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนบุคคลที่อาจมีผู้ร่วมงาน 10,000 คนขึ้นไป เพื่อให้หน่วยงานตำรวจสามารถบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการจัดการจราจรโดยรอบ มาตรการการตรวจสอบปริมาณฝูงชน การไหลเวียนของฝูงชนในพื้นที่ และการดูแล หรือปิดล้อมพื้นที่เสี่ยงเพื่อรักษาความปลอดภัย

สำหรับในประเทศไทย นอกจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกับการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย หน่วยงานวิจัยหลายแห่งยังพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือ ล่าสุดเว็บไซต์ของสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ได้เผยแพร่บทความบทเว็บไซต์เกี่ยวกับการบริหารจัดการฝูงชน โดย ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปิดเผยว่า หลักในการจัดการฝูงชน (Crowd Management) เป็นสิ่งที่มีในมาตรฐานของ National Fire Protection Association (NFPA)’s 101 Life Safety Code ซึ่งแนะนำให้ผู้จัดงานเตรียมความพร้อม โดยต้องมี

  1. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ก่อนถึงเวลาจัดการ โดยผู้จัดงานควรมีการประเมินว่ามีเหตุการณ์อันตรายใดที่อาจเกิดขึ้นภายในงาน สำรวจสถานที่ และระบุจุดเสี่ยง อีกทั้งยังควรมีการจัดเตรียมทางเข้า-ออก และทางออกฉุกเฉิน ป้ายสัญญาณ และควรให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการรับมือกับเหตุการณ์ อาทิ การทำ CPR หรือการรับมือกับฝูงชนในเบื้องต้น รวมถึงการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมจุดเสี่ยง
  1. แผนรับมือเหตุฉุกเฉิน (Emergency Plan) จัดทำแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน และวิธีป้องกันไม่ให้คนในฝูงชนเกิดความแตกตื่นจนทำให้เกิดความโกลาหล รวมถึงระบบการแจ้งเตือน หรือข่าวสารฉุกเฉินให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที
  2. เลือกใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการฝูงชน (Crowd Management) ที่เหมาะสม ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ ระบบการรักษาความปลอดภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางกายภาพ อาทิ อุปกรณ์ IoT ระบบ Cloud และ AI Camera เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและเฝ้าระวังเหตุ
  3. จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Command Center) ควรมีทีมงานที่มีประสบการณ์ มีความรู้ มีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้ตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
  4. เตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานแพทย์ หน่วยงานดับเพลิง ตำรวจ หรืออาสสาสมัครด้านความปลอดภัย เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากการเข้าถึงพื้นที่ที่ล่าช้า

มาตรการเหล่านี้ หากสามารถทำได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุฝูงชนถล่ม และเพิ่มความปลอดภัยให้กับเหตุการณ์ที่มีฝูงชนขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงควรต้องมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสาธารณะที่ดีด้วย

Security Pitch เรามุ่งมั่นส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยสาธารณะ และความปลอดภัยในทุกด้าน เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านความปลอดภัยที่ไร้รอยต่ออย่างแท้จริงให้กับสังคมไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก

สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”

Tel. : 081-972-2500

Line : @securitypitch

Email : [email protected]

บทความที่น่าสนใจ