เรียกร้องอะไรได้บ้าง หากโดนภาพ AI สวมรอย

เมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียล เมื่อมีรูปภาพ Taylor Swift ปลอมถูกโพสต์ บนแพลตฟอร์ม X หรือเดิมคือ Twitter  นำมาสู่การเรียกร้องของแฟนคลับที่ต้องการให้แพลตฟอร์มหาวิธีปกป้องศิลปินที่พวกเขารัก

ภาพ AI ของ Taylor Swift ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบภาพอนาจาร มีผู้เข้าชมถึง 45 ล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม X และมีผู้คนกดไลก์ถึง 1 แสนครั้ง ภายใน 17 ชั่วโมง ก่อนที่โพสต์จะถูกลบออกไป กรณีนี้กลายเป็น เครื่องบ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “ล้มเหลว” ในการจัดการกลั่นกรองเนื้อหา จนทำให้ศิลปินระดับโลกเกิดความเสียหาย

แหล่งข่าว 404 Media ระบุว่า ภาพ Taylor Swift ปลอมที่ถูกสร้างด้วย AI มาจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งใน Telegram โดยสมาชิกของกลุ่มมักจะใช้ Microsoft Designer ซึ่งใช้ DALL-E 3 ของ OpenAI เพื่อสร้างภาพตามชุดคำสั่งที่ป้อนลงไปโดยการเขียนชุดคำสั่ง เช่น “taylor ‘singer’ Swift” หรือ “jennifer ‘actor’ aniston” แต่ Microsoft เองก็ออกมาแย้งว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีการปิดกั้นไม่ให้สร้างรูปบุคคลที่มีชื่อเสียงได้ แต่หัวหน้าฝ่ายวิศวกรของ Microsoft ชี้ว่าแพลตฟอร์มมีช่องโหว่ 

ในฝั่งของแฟนคลับ ได้ออกแคมเปญ “#ProtectTaylorSwift” และเรียกร้องให้มีการจัดการในเรื่องนี้ และมองว่าปัญหาการใช้ AI และ Deepfake อาจไม่ได้เกิดกับแค่บุคคลที่มีชื่อเสียง แต่มันสามารถเกิดกับทุกคนได้เช่นกัน

ล่าสุดกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาในสภาคองเกรสได้นำเสนอ พ.ร.บ Disrupt Explicit Forged Images and Non-Consensual Edits (DEFIANCE) Act ซึ่งถูกเสนอและร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2019 โดยผู้ที่สร้างภาพปลอมจาก AI หรือ Deepfake และมีภาพในลักษณะอนาจาร จะถูกแจ้งความทางคดีแพ่งได้อีกทั้งยังให้สิทธิ์ผู้เสียหายได้รับค่าเสียหายเป็นเงินชดเชย 

แล้วหากเรามีภาพจาก AI และ Deepfake โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมเหมือนกับ Taylor Swift  เราสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง? 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเราสามารถเรียกร้องหรือฟ้องร้องได้ เมื่อมีการสร้างภาพ AI ในลักษณะของ เนื้อหาปลอม การหมิ่นประมาท หรือใช้ในการฉ้อโกง จะเข้าข่ายความผิดทางอาญา 6 ฐาน ดังต่อไปนี้

1. ความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

2. ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

3. ความผิดฐาน “ผลิต มีไว้ ซึ่งสื่อลามก เพื่อการค้า เพื่อการแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 (1)

4. ความผิดฐาน “โฆษณาแหล่งสิ่งลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า หรือเพื่อทำให้แหล่งที่มาของสิ่งลามกอนาจารนั้นแพร่หลาย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 (3)

5. ความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (4) หรือ มาตรา 14 (5) แล้วแต่กรณี

6. ความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน “200,000 บาท” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16

นอกจากนี้หากผู้เสียหายถูกนำใบหน้าไปตัดต่อ สามารถฟ้องเรียก “ค่าสินไหมทดแทน” จากผู้ที่กระทำ “ละเมิด” ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อีกด้วย

ที่มา : TechCrunch, Post Today

สอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ “OneFence”

Tel. : 081-972-2500
Line : @securitypitch
Email : [email protected]

บทความที่น่าสนใจ