ลดหย่อนภาษี ? ขั้นตอนนี้ทำไมต้องขอใช้สิทธิ์
#PDPAKnowledge | ลดหย่อนภาษี? ขั้นตอนนี้ทำไมต้องขอใช้สิทธิ์
ใกล้เข้าสู่ช่วงการยื่นภาษี หลายคนก็เริ่มมองหาช่องทางในการ ลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ส่งเสริมโดยภาครัฐ หรือแม้แต่การซื้อประกันภัย และการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ซึ่งในปีก่อน ๆ ก็อาจไม่มีขั้นตอนอะไรยุ่งยากมากนัก แต่ในปีนี้กลับมีสิ่งที่แปลกไป นั่นคือการต้องแจ้งความจำนงในการขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนจากการซื้อประกันภัย การซื้อกองทุน หรือการกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคาร
การขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร? ทำไม? ต้องมีการแจ้งความจำนงขอใช้สิทธิ์ ถ้าไม่แจ้งความจำนงจะมีผลอะไรต่อการลดหย่อนภาษีหรือไม่? OneFence มีคำตอบมาฝาก
การแจ้งความประสงค์ในการขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ถือเป็นมาตรการใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อสอดรับกับกฎหมาย PDPA เนื่องจากกฎหมายระบุให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการเก็บ รวบรวม หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ ต้องมีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน สถาบันการเงินต่าง ๆ จะไม่สามารถส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรได้ทันที โดยไม่ได้รับความยินยอม ด้วยเหตุนี้สถาบันการเงินต่าง ๆ จึงต้องออกมาประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลเข้าไปแจ้งความจำนงขอใช้สิทธิ์ลดหย่อน (ให้ความยินยอม) ในการเปิดเผยข้อมูล และสามารถนำส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรได้
การแจ้งความประสงค์ในการขอใช้สิทธิ์ ลดหย่อนภาษี ครอบคลุมอะไรบ้าง?
การแจ้งความประสงค์ในการลดหย่อนภาษีจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษี และมีค่าลดหย่อนดังนี้
- เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดา มารดา
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนเพื่อการออม (SSF)
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
ไม่แจ้งความประสงค์ในการขอใช้สิทธิ์ ลดหย่อนภาษี กับสถาบันการเงิน มีผลอะไรไหม?
ในกรณีที่ผู้ที่ต้องการยื่นภาษีไม่แสดงความจำนงในการขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับสถาบันการเงินก่อน ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ให้ความยินยอม ธนาคารจะไม่สามารถนำส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรได้ นอกจากนี้หากมีการขอหนังสือรับรองเพื่อยื่นภาษีเอง เอกสารรับรองดังกล่าวก็จะไม่มีผลในการลดหย่อนภาษีด้วยเช่นกัน นั่นจึงแปลว่าคุณจะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง
ถ้าต้องการยกเลิกความประสงค์ในการลดหย่อนภาษีในภายหลังได้หรือไม่?
ได้ เพราะตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ระบุว่า หากเจ้าของข้อมูลต้องการยกเลิกการให้ความยินยอมก็จะต้องสามารถทำได้โดยง่าย ด้วยวิธีเดียวกับการขอความยินยอมด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้
ทราบแบบนี้แล้ว ใครที่กำลังจะยื่นภาษีในปี พ.ศ. 2566 และต้องการขอใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ก็ควรรีบติดต่อเพื่อแสดงความประสงค์ในการลดหย่อนภาษี ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งตัวคุณ และบริษัทต้นทางสามารถจัดการเรื่องภาษีได้อย่างราบรื่น และถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก