ตั้ง password อย่างไรให้จำง่าย เดายาก

password

#PDPA Knowledge | ตั้ง password อย่างไรให้จำง่าย เดายาก ไม่โดนขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่เกิดได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่นอกจากจะเกิดจากความไม่ระมัดระวังจนเผลอเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปแล้ว การตั้ง password ที่ง่ายต่อการคาดเดาก็ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วยเช่นกัน แต่ครั้นจะตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาก็อาจเป็นปัญหาสำหรับคนขี้ลืมได้เหมือนกัน ถ้าหากคุณกำลังประสบปัญหาในการตั้งรหัสผ่านเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล OneFence มีเคล็ดลับในการตั้งพาสเวิร์ดมาฝาก เพื่อให้คุณตั้งรหัสผ่านที่จดจำง่าย แต่ยากในการคาดเดามาฝาก

1. ตั้ง password มีความยาวมากกว่า 8 ตัวอักษรขึ้นไป 

อันดับแรก ควรเริ่มต้นที่ความยาวของรหัสผ่าน เพราะยิ่งรหัสผ่านมีความยาวมากเท่าไรก็ยิ่งปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว รหัสผ่านที่ดีควรมีความยาว 8-12 ตัวอักษร แต่ถ้าต้องการให้ปลอดภัยมากที่สุดก็ควรให้รหัสมีความยาว 10 – 14 ตัวอักษร จะดีที่สุด

2. ใช้ทุกตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ให้คุ้มค่า

การสร้างรหัสผ่านที่ดี ไม่ควรเป็นตัวอักษรที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ควรใช้ตัวอักษรบนคีย์บอร์ดแบบกระจาย ๆ และควรใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวเลข และตัวอักษรพิเศษ ผสม ๆ กัน เพื่อให้มิจฉาชีพไม่สามารถคาดเดาได้

3. หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านจากข้อมูลส่วนตัว

วันเดือนปีเกิด ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน ชื่อเล่น หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลใกล้ชิด เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาตั้งรหัสผ่านเป็นอันขาด เพราะข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถสืบค้นจากบนโซเชียลมีเดียได้

4. อย่าใช้คำที่มีอยู่ในพจนานุกรม หรือมีความหมาย

ต้องขอบอกก่อนเลยว่าการตั้งรหัสผ่านโดยใช้คำศัพท์ที่มีในพจนานุกรม หรือเป็นประโยคง่าย ๆ เป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะคำทุกคำที่มีอยู่ในพจนานุกรม มักจะถูกนำไปใส่ในโปรแกรมคาดเดารหัสผ่านเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นควรตั้งรหัสผ่านที่เป็นคำที่ไม่มีความหมาย หรือเป็นประโยคยาว ๆ จะช่วยให้ยากต่อการคาดเดามากขึ้น

5. อย่าใช้รหัสผ่านซ้ำ

การใช้รหัสผ่านซ้ำ ๆ กันในทุกเว็บไซต์ อาจเป็นวิธีที่ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลาจำรหัสผ่านเยอะ ๆ แต่ก็จะกลายเป็นของหวานสำหรับบรรดามิจฉาชีพด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่เหมือนกันหมด หากกลัวว่าจะจำไม่ได้ ก็ลองใช้รหัสผ่านที่มีเอกลักษณ์ และช่วยให้คุณสามารถจดจำได้ง่ายแทนจะดีกว่า

6. อย่าจดรหัสผ่านไว้ในที่ที่เข้าถึงง่าย

หลายคนแก้ปัญหาในการลืมรหัสผ่านด้วยการจดลงสมุด หรือบันทึกไว้ในโทรศัพท์ ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้รหัสผ่านของคุณถูกเปิดเผยได้ง่าย ดังนั้นห้ามจดลงในสมุดหรือที่ที่เข้าถึงง่ายจะดีที่สุด แต่ถ้าหากจำเป็นต้องจดจริง ๆ ก็ควรหาสถานที่เก็บให้ดี และมิดชิดที่สุด

7. อย่าบอกรหัสผ่านกับใคร

แม้จะเป็นคนขี้ลืมมากแค่ไหน แต่ไม่ควรบอกรหัสผ่านกับใคร ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไว้ใจที่สุด เพราะแม้จะเป็นคนใกล้ตัวเราก็อาจไม่สามารถไว้ใจได้ โดยเฉพาะรหัสผ่านที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินไม่ควรบอกใคร หรือใบ้ให้ใครรู้จะดีที่สุด

8. ตั้งรหัสผ่านด้วยการพิมพ์สลับภาษา

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้จดจำรหัสผ่านได้ง่าย แต่ยากต่อการคาดเดาก็คือ การรหัสผ่านเป็นคำภาษาไทยโดยแสดงผลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะวิธีนี้จะทำให้รหัสของคุณยากต่อการคาดเดาไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพคนไทย หรือต่างชาติ แต่ก็ควรเช็กให้แน่ใจว่าคุณพิมพ์ถูกหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจทำให้คุณจำรหัสผ่านผิดได้

9. ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ในการเข้าสู่ระบบ

ปัจจุบันสมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่สามารถใช้วิธีการสแกนนิ้ว หรือสแกนใบหน้าเพื่อเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้นคุณอาจเปลี่ยนจากการใช้รหัสผ่านเป็นการใช้วิธีนี้ในการเข้าสู่ระบบผ่านมือถือได้ แต่ก็ควรมีการตั้งรหัสผ่านที่รัดกุมในกรณีที่ไม่สามารถสแกนนิ้ว หรือสแกนหน้าได้ด้วยเช่นกัน 

ได้ทราบแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ หรือถ้ายังใช้รหัสผ่านที่คาดเดาได้ง่ายอยู่ก็ควรเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

ขอบคุณข้อมูลจาก